วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559




พระวิกรมาทิตย์กษัตริย์ผู้มีคุณธรรม : สัจจะ และความมานะพากเพียร

                                                                        
โดยนางสาวณัฏฐวิกา  เถื่อนประดิษฐ์  
                                                                                                                                            นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย ชั้นปีที่  ๓
                                                                                                                                       วิทยาลัยการฝึกหัดครู  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

วรรณกรรมต่าง ๆ สามารถถ่ายทอดปรัชญา คุณธรรม และจริยธรรมของแต่ละสังคมออกมาให้เป็นรูปธรรมภายใต้ลายลักษณ์อักษรได้ โดยวรรณกรรมเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างหลักปรัชญา คุณธรรม และจริยธรรมที่เป็นนามธรรมกับเรื่องราวอันเป็นรูปธรรมผ่านการสื่อสารหลักแนวคิดดังกล่าวจากการแสดงพฤติกรรมของตัวละคร ตัวละครที่ปรากฏในวรรณกรรมหรือในวรรณคดี  ได้เปิดเผยให้ผู้อ่านเห็นความคิดจิตใจของมนุษย์ด้วยกัน  ทั้งที่เหมือนกับคนทั่วๆไปและทั้งที่แตกต่างและมีปฏิกริยาต่อคนอื่น ในบทความนี้ ผู้เขียนจะหยิบยกและอภิปรายถึงตัวละครหลักของวรรณกรรมเรื่อง  นิทานเวตาล อย่างพระวิกรมาทิตย์ที่เป็นกษัตริย์ที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม  อันเป็นผู้มีสัจจะและความมานะพากเพียร
ความมีสัจจะ และความมีมานะพากเพียรของพระวิกรมาทิตย์ในนิทานเวตาล                                                   
     “สัจจะ” แปลว่า ความสัตย์ ความซื่อ ถ้าขยายความตามศัพท์แยกได้ 3 ลักษณะคือ มีความจริง ความตรง และความแท้จริง คือ ไม่เล่น ตรง คือ ความประพฤติทางกาย วาจา ตรงไม่บิดพลิ้ว ไม่บ่ายเบี่ยง แท้ คือ ไม่เหลวไหล  ลักษณะของสัจจะมีด้วยกัน ๕ ประการ คือ  ประการที่ ๑ สัจจะต่อความดี ประการที่ ๒ สัจจะต่อหน้าที่  ประการที่ ๓ สัจจะต่อการงาน  ประการที่ ๔ สัจจะต่อวาจา และประการที่ ๕ สัจจะต่อบุคคล  
     “มานะ”  คือ  ความพยายาม ความตั้งใจจริง ความพากเพียร                                                                       
      ตำนานเรื่องนิทานเวตาลนี้ เริ่มต้นเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว คือ พระวิกรมาทิตย์ กษัตริย์แห่งกรุงอุชชยินี ผู้ทรงพระปรีชาญาณทางปัญญาและมีเดชานุภาพมากนั้น  ได้มีเหตุที่ต้องสัญญากับโยคีตนหนึ่งว่า  พระองค์จะไปนำตัวเวตาลออกมาจากป่าช้าริมแม่น้ำโคทวารี   เงื่อนไขของการจับตัวเวตาลนั้นพระวิกรมาทิตย์จะต้องฝ่าอันตรายเข้าไปในป่าช้าซึ่งมีต้นอโศกและตัวเวตาลเป็นศพแขวนอยู่ที่กิ่งอโศกในป่าช้านั้นแล้วปลดเวตาลใส่ย่ามออกมาจากป่าช้า   ระหว่างที่ตัวเวตาลอยู่ในย่ามพระวิกรมาทิตย์จะต้องไม่ตรัสอะไรเลย  หากตรัสขึ้นตัวเวตาลก็จะเกิดฤทธิ์  หลุดลอยออกจากย่ามไปแขวนอยู่ที่ต้นอโศกตามเดิม พระวิกรมาทิตย์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีคุณธรรมสูงแต่ก็เผลอสติจนทำให้ตกอยู่ในที่ลำบากเกือบจะเอาชนะเวตาลไม่ได้ 
        เวตาลนั้นพยายามยั่วให้พระวิกรมาทิตย์ตรัสให้ได้โดยเล่านิทานที่มีปัญหาชวนคิดแล้วกล่าวคำว่ายุให้      พระวิกรมาทิตย์ตรัสโต้ตอบ พระวิกรมาทิตย์ก็อดที่จะตรัสตามความนิทานไม่ได้เวตาลจึงมีฤทธิ์หลุดลอยออกไปจากย่ามครั้งแล้วครั้งเล่าจนกระทั่งเวตาลได้เล่านิทานได้ถึง ๒๕   เรื่องคือ  เวตาลปัญจวีสติ            พระวิกรมาทิตย์ซึ่งคุมสติชนะพระองค์เองได้ โดยไม่ตรัสตอบตามเนื้อหานิทานที่ชวนสงสัยของเวตาลในที่สุดพระวิกรมาทิตย์ก็สามารถนำตัวเวตาลมามอบให้โยคีตามสัญญาได้สำเร็จเป็นการสิ้นสุดพระราชภาระของพระองค์
                พระวิกรมาทิตย์นั้นเป็นกษัตริย์ที่ถึงพร้อมด้วยสัจจะทั้ง  ๕  ประการโดยแท้ ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงให้สัจจะกับโยคีศานิศีลว่าจะไปนำตัวเวตาลกลับมาให้ ทั้งที่พระองค์ทรงรู้อยู่แล้วว่าโยคีศานิศีลกำลังตั้งพิธีจะทำร้ายพระองค์และพระราชวงศ์ของพระองค์   แต่พระองค์ก็ถือมั่นในสัจจะและนำตัวเวตาลกลับมาให้โยคีศานิศีลได้สำเร็จ  แต่กว่าที่พระองค์จะนำตัวเวตาลนั้นออกมาจากป่าช้าได้นั้น  พระองค์ต้องทรงมีความมานะเพียรพยายามเป็นอย่างยิ่ง ดังปรากฏในนิทานเวตาลตอนหนึ่งว่า
 “...พระวิกรมาทิตย์เสด็จปีนขึ้นไป  แลลงหลายครั้งก็ไม่ย่อท้อปรากฏความเพียรเหมือนหนึ่งว่าจะยอมปีนลงอยู่จนสิ้นยุค...”
                 ครั้นเวตาลยอมให้จับได้ก็ยั่วยุจนหลุดไปได้  วนเวียนอยู่ถึง  ๒๕  ครั้ง  จึงนับว่าเป็นยอมแห่งความเพียรที่มีความอดทน  และความพยายาม  ยากที่มนุษย์ธรรมดาจะทำได้และในท้ายที่สุดเมื่อพระองค์ไม่ทรงตอบปัญหาในเรื่องสุดท้าย  เวตาลจึงกล่าวชมและกล่าวอวยพรว่า 
 ...ทรงตั้งมั่นพระราชหฤทัยดีนัก  พระปัญญาราวกับเทวดา  และมนุษย์อื่นที่มีปัญญาจะหามนุษย์เสมอมิได้  ข้าพเจ้าขอถวายพระพรให้ทรงรับความสำราญ  เป็นผลแห่งการที่ทรงนิ่งครั้งนี้...”
  จากที่ได้หยิบยกตัวละครในวรรณกรรมนิทานเวตาลขึ้นมาอภิปรายพร้อมกับคุณธรรมที่ตัวละครหลักของเรื่องอย่างพระวิกรมาทิตย์มี ได้แก่ สัจจะ และความมานะ  เพียรพยายาม พฤติกรรมของตัวละครพระวิกรมาทิตย์ได้สะท้อนให้ผู้อ่านได้เห็นถึงคุณธรรมที่ควรมีเป็นพื้นฐานอย่างสัจจะและความมานะพากเพียรอันจะเป็นแนวทางนำไปสู่ความสำเร็จและความเจริญในชีวิต


 Mendelson-Maoz, Adia. (2007). Ethics and literature: Introduction. Philosophia, (35), pp. 111-116.        
 สิทธา  พินิจภูวดล  และนิตยา  กาญจนะวรรณความรู้ทั่วไปทางวรรณกรรมไทย.  (กรุงเทพฯ:  ดวงกมล,  ๒๕๒๐),  หน้า  ๗.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น